TWC Article
“FACE COVID”
: แนวางในการรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาด Covid-19
F = Focus on what’s in your control
“F” ตัวแรก คือการให้ความสนใจในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ โดยวิกฤตการณ์โคโรน่านั้น เป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ เศรษฐกิจ และสังคม โดยปกติแล้วเวลาเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ใดๆ ก็ตาม สิ่งที่มักมาพร้อมกับวิกฤตการณ์นั้น คือ ความกลัวและความวิตกกังวล ที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองอย่างอัตโนมัติของมนุษย์ต่อความท้าทายที่เต็มไปด้วยอันตรายและความไม่แน่นอนเหล่านั้น มันเป็นช่วงเวลาที่เรามักจะเกิดความรู้สึกหลงทาง วิตกกังวลต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราได้ง่ายมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์นั้นควบคุมได้ยากมากขึ้นเท่าไหร่ ตัวเราก็จะยิ่งรู้สึกสิ้นหวังและวิตกกังวลมากขึ้นเท่านั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านวิกฤตการณ์COVID-19 น่าหรือวิกฤตการณ์อื่นๆ ไปได้ด้วยดี คือ การเปลี่ยนมาให้ความสนใจในสิ่งที่เราสามารถควบคุมมันได้นั่นเอง
เราไม่สามารถควบคุมอนาคตของเราได้ เราไม่สามารถควบคุมเจ้า COVID-19 นี้ได้ เราไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกหรือการทำงานของรัฐบาลแต่ละประเทศได้ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจของเราเองก็ตาม บางครั้งเราก็มักจะคิดมากไปเอง จนเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา แต่สิ่งที่เราจะสามารถควบคุมได้ดีที่สุด คือการควบคุมตัวเองหรือการกระทำของตัวเราเองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ณ ปัจจุบันนี้ เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ในขณะนี้นั้น สามารถสร้างความแตกต่างทั้งจากตัวเราเอง ผู้คนรอบตัว และชุมชนของเราอย่างมีนัยยะสำคัญ ตามจริงแล้วนั้น เราทุกคนสามารถควบคุมการกระทำหรือพฤติกรรมของเราเองได้ดีกว่าการควบคุมความคิดและความรู้สึกของเราเอง และการควบคุมตัวเองนี้ ยังหมายรวมถึงการจัดการกับโลกที่อยู่ภายในใจเรา ทั้งความคิดและความรู้สึกของเรา ที่มักจะยากต่อการจัดการเสมอ รวมไปถึงการจัดการกับปัญหาจริงๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ด้วย แล้วเราจะเริ่มจัดการมันได้อย่างไร ?
เมื่อพายุลูกใหญ่ได้พัดเข้ามา เรือลำใหญ่หลายต่างถูกนำมาจอดทอดสมออยู่ที่ท่าเรือ เพราะถ้าหากไม่นำเรือมาทอดสมอจอดเอาไว้ เมื่อเกิดพายุลูกใหญ่ เรือก็จะถูกพลัดพาลอยออกไปไกลจากชายฝั่งได้ ซึ่งแน่นอนว่า การทอดสมอไม่ได้ช่วยให้พายุสงบลง และเจ้าสมอก็ไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมดินฟ้าอากาศได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่สมอนั้น ช่วยให้เรือยังจอดเทียบท่าได้ แม้พายุจะซัดโหมกระหน่ำแค่ไหน เรือที่ทอดสมอจอดไว้ก็ยังคงจอดอยู่ที่ท่าเรือ และจะจอดรอจนกว่าพายุร้ายจะพัดหายไป
ทำนองเดียวกันกับการเจอวิกฤตการณ์ เราทุกคนล้วนกำลังมีประสบการณ์กับ “พายุแห่งอารมณ์” อันหมายถึงความคิดเชิงลบต่างๆ ที่ได้ปั่นตัวเป็นเกลียวพายุขึ้นในหัวของเรา และเมื่อเราเจอกับพายุโหมซัดเข้าใส่ สิ่งที่ทำได้ นั่นคือ “การทอดสมอ” โดยการทอดสมอนั้นเป็นทักษะที่ดูจะมีประโยชน์มาก เพราะเราสามารถใช้มันในการจัดกับความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำและความกดดันต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามาในช่วงขณะนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการสลับสวิชมันโดยอัตโนมัติแล้วให้ความสนใจไปที่ชีวิตของเราเอง การพยายามยืนอย่างมั่นคงในช่วงเวลาที่ยากลำบาก การถูกรบกวนด้วยความคิดที่วิตกกังวลของตัวเราเอง แล้วไปมุ่งเน้นให้ความสนใจในงานหรือกิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ยิ่งเราสามารถหาที่ยึดเหนี่ยวตัวเราเองได้เร็วมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถควบคุมตนเอง ควบคุมการกระทำของตัวเราเองได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
A = Acknowledge your thoughts & feelings
ตัวต่อไปคือตัว “A” การยอมรับ รับทราบในทุกสิ่งอย่างที่ปรากฏขึ้นภายในตัวเรา ทั้งความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ หรือความกดดันที่เกิดขึ้น ลองหันมาสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกที่อยู่ภายในของเรา ยอมรับมันและบอกกับตัวเราเองให้ได้ว่า ฉันรู้สึกกังวล ฉันรู้สึกเศร้า ฉันรู้สึกหวาดกลัว เป็นตัน จงยอมรับความคิดและความรู้สึกของตัวเราเองให้ได้ เพื่อเตรียมตัวเอง ให้สามารถยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
C = Come back into your body
ตัว “C” นั่นคือการกลับมาเชื่อมต่อกับร่างกายของเรา ซึ่งการกลับมาเชื่อมต่อกับร่างกายของเราเองนั้น ไม่ได้หมายถึงการพยายามหลีกเลี่ยงหรือหันหน้าหนีจากปัญหาหรือเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในโลกภายในของเรา แต่จุดมุ่งหมายคือการตระหนักถึงความคิดและความรู้สึกของตัวเราเอง พยายามยอมรับถึงการปรากฏขึ้นของความรู้สึกเหล่านั้น ซึ่งการเชื่อมต่อกับร่างกายและขยับมันไปมาอย่างมีสตินั้น อาจจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่เราสามารถควบคุมมันได้ดีที่สุด แม้ว่า ณ ขณะนั้น เราจะไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของเราเองได้เลยก็ตาม โดยอาจจะเริ่มด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างเช่นการฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออก การค่อยๆ ทำท่ายืดหลังและกระดูกสันหลังด้วยค่อยๆ ก้มหรือโน้มตัวไปข้างหน้าในขณะที่กำลังนั่งเก้าอี้หรือพื้น แล้วหายใจช้าๆ เป็นต้น อย่าลืมว่า การให้ความสนใจในสิ่งที่เราควบคุมได้นั้น คือ “F” ตัวแรกที่เรากล่าวถึงมาก่อนหน้านี้นั่นเอง
E = Engage in what you’re doing
รับรู้ให้ได้ว่าตอนนี้ตัวเรานั้นกำลังอยู่ที่ไหนแล้วหันไปให้ความสนใจในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ โดยการรับรู้ถึงปัจจุบันขณะด้วยแนวทางการรับรู้ที่เป็นวิธีการของเราเอง อย่างเช่น ค่อยๆ กวาดตามองไปรอบๆ ห้อง สังเกตว่าเห็นอะไรบ้าง แล้วหลับตา ปล่อยให้ผัสสะแห่งการรับรู้กลิ่นและเสียง อย่าง หูและจมูก ค่อยๆ สัมผัสกับกลิ่นและเสียงของสถานที่นั้นๆ การตระหนักรับรู้ให้ได้ว่าเรากำลังอยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไรจะช่วยให้เรารับรู้ถึงจุดยืนของตัวเองและสามารถทำตามเจตจำนงอันมุ่งมั่นของเราได้อย่างเต็มที่
C = Committed action
การที่เราทำในสิ่งที่เราได้ให้คำมั่นเอาไว้นั้น มันช่วยแสดงให้เห็นถึงคุณค่าหลักในชีวิตที่เรายึดถือ มันเป็นการลงมือทำที่มาจากแก่นแท้ของตัวเราเอง แม้ว่าการลงมือทำนั้นจะทำให้เกิดความคิดและความรู้สึกที่ยุ่งยาก แต่ถ้าหากเรารู้จุดยืนของเรา รู้ตัวเองอยู่เสมอว่ากำลังให้ความสนใจกับอะไรและตามหลักการของ "การทอดสมอ" นั้น มันจะช่วยให้เราสามารถควบคุมการกระทำของเราได้ดีมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เรื่องนี้มันง่ายขึ้น คือการเลือกลงมือทำในสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน เห็นได้ชัดว่าตอนนี้นั้น มาตรการต่างๆ ในการป้องกันการการเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่าง การล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้น ได้รับการกล่าวถึงและรณรงค์กันเป็นวงกว้าง แต่นอกเหนือจากมาตรการเหล่านี้แล้ว หากเพิ่มมาตรการง่ายๆ ในการดูแลตนเอง คนที่เราอยู่ด้วย หรือคนที่ต้องการการดูแลจริงๆ ไปด้วย อย่างเช่น เราจะสามารถให้กำลังใจคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาท่ามกลางวิกฤตการณ์นี้ได้อย่างไร หรือให้ความช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการและความรู้ทางสาธารณสุขได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น
และเมื่อเราต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการอยู่ที่บ้าน โดยการกักตัวเอง หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม เราอาจจะต้องลุกขึ้นมาบริหารร่างกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงบ้าง หรือทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อตัวเองและผู้อื่น อย่างเช่น การใช้เวลาว่างจากการ Work from home มาทำหน้ากากผ้า เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ขาดแคลน เป็นต้น
O = Opening up
การเปิดรับ หมายถึงการเปิดพื้นที่ว่างให้ตัวเองบ้าง และให้มันเป็นพื้นที่สำหรับความรู้สึกที่ยากลำบากและเป็นการแสดงความใจดีต่อตัวเอง ในช่วงเวลาการเกิดวิกฤตการณ์ คนเรามักจะรู้สึกว่าทุกสิ่งมันยากมากขึ้น และมักจะรู้สึกวิตกกังวล รู้สึกโกรธ รู้สึกเศร้า รู้สึกผิด รู้สึกเหงา รู้สึกขุ่นมัวและสับสน ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถหยุดความรู้สึกเหล่านี้ได้เลย แต่มันเป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้น การที่เราสามารถเปิดใจรับได้ว่า การมีอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้นั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้ว่าการเกิดขึ้นของความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้เราเจ็บปวดไปบ้างก็ตาม
การแสดงความใจดีกับตัวเองบ้าง เป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงเวลาแห่งการเกิดวิกฤตการณ์นี้ การใจดีกับตัวเอง เปรียบเสมือนการใส่หน้ากากอ๊อกซิเจนให้ตัวเราเอง หากเราต้องดูแลผู้อื่นด้วยแล้วนั้น เราก็ยิ่งต้องรักตัวเอง ใจดีกับตัวเองให้มากยิ่งขึ้น เพราะมันจะทำให้เราสามารถช่วยเหลือและดูแลผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
V = Values
การลงมือทำด้วยเจตจำนงอันมุ่งมั่นนั้น เป็นสิ่งที่เกิดจากการนำทางจากค่านิยมหลักที่เรายึดถือในการใช้ชีวิต ซึ่งค่านิยมที่กล่าวถึงนั้น ได้หมายรวมถึงความรัก ความเคารพ อารมณ์ขัน ความอดทน ความกล้า ความห่วงใย ความใจดี และคุณค่าอื่นๆ อีกหลายอย่าง ลองมองหาวิธีทำให้คุณค่าดีๆ เหล่านี้มาอยู่ในการใช้ชีวิตแต่ละวันของเรา และให้มันเป็นตัวกระตุ้นให้เราเกิดการลงมือทำอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ
แน่นอนว่า เมื่อวิกฤตการณ์นี้คลีคลายลง มันจะมีอุปสรรคอื่นๆ อีกมากมายที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการที่เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้ หรือปัญหาที่เข้ามาในชีวิตแล้วเราแก้ไขมันไม่ได้เลย แต่เราก็ยังสามารถรักษาคุณค่าอันเป็นแก่นแท้แห่งชีวิตของเราในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์ที่เราพบเจอได้
I = Identify resources
การช่วยแบ่งปันแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการป้องกันและเฝ้าระวัง COVID-19 ด้วยการค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่เชื่อถือได้ ตัวอย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล หรือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณะสุข เป็นต้น แล้วเผยแพร่ให้แก่ผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ซึ่งการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ เป็นการแสดงถึง “การให้ผู้อื่น” และเป็นการแสดงถึงความห่วงใยที่มีต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคมอีกด้วย
D = Disinfect & distance
ในข้อนี้นั้น เป็นอีกหนึ่งในคำมั่นในการลงมือทำของเรา การหมั่นล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี และเว้นระยะห่างทางสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงการกระทำที่เต็มไปด้วยจิตสำนึก ความตระหนักรับรู้และความห่วงใย มันเป็นการใส่ใจตัวเราเอง คนรอบข้างและคนอื่นๆ ในสังคมของเราด้วย
แปล E-Book : FACE COVID by Russ Harris
ที่มา : https://drive.google.com/file/d/117HY4z4mY5izJpR44ejuZ8rhTyoWEGEG/view
บริษัท เดอะ ทรี เวิลด์ส ครีเอเตอร์ จำกัด
LINE ID : the3worldscreator
Facebook : www.facebook.com/the3worldscreator
Tel. 093-2459985, 02-5309150